การผ่าตัดต้อกระจกด้วยเลเซอร์
(Femtosecond Laser assisted Cataract Surgery)

เขียนโดย รศ.นพ.ดิเรก ผาติกุลศิลา


วิธีการผ่าตัดต้อกระจก

ปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกด้วยนิยมทำ 2 วิธี คือ

  1. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification หรือ phaco)
  2. การผ่าตัดโดยการใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัดต้อกระจก (Femtoscend Laser Assisted Cataract Surgery หรือ FLACS)
การผ่าตัดโดยการใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัดต้อกระจกคืออะไร?

การผ่าตัดโดยการใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัดต้อกระจก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาต้อกระจก โดยเลเซอร์ที่ใช้เป็นชนิดเฟมโตเซคเคินเลเซอร์ (Femtosecond laser) ซึ่งเป็นเครื่องเลเซอร์ที่มีอัตราความเร็วสูงที่ใช้แทนใบมีดเพื่อตัดเนื้อเยื่อที่ตาได้อย่างแม่นยำ โดยเลเซอร์มาช่วยผ่าตัดในบางขั้นตอนที่สำคัญเท่านั้น โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของเลเซอร์ ร่วมกับใช้เทคโนโลยีการสแกนภาพดวงตาแบบ 3 มิติ ที่เรียกว่า Optical coherence tomography ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจความหนาของชั้นจอประสาทตาและพยาธิสภาพ และประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น

การผ่าตัดโดยการใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัดต้อกระจก แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ
  • ขั้นตอนแรก เป็นการใช้เลเซอร์เปิดแผล เปิดถุงหุ้มเลเซอร์ด้านหน้า และตัดเลนส์เป็นชิ้นๆ ไว้ก่อน
  • ขั้นตอนที่ 2 เป็นการใช้เครื่องสลายต้อกระจกเขาไปดูดเลนส์ที่ถูกตัดไว้ก่อนแล้วออกมา
ขั้นตอนใช้เลเซอร์
  • ใช้เปิดแผลที่ขอบตาดำ ลดโอกาสเกิดสายตาเอียงที่เกิดจากแผลผ่าตัด (รูปที่ 1)
  • ใช้ตัดถุงหุ้มเลนส์ส่วนหน้าให้เปิดเป็นช่องที่มีความกลมและขนาดที่เหมาะสม (รูปที่ 2) ทำให้ถุงเลนส์ที่ได้มีความสมบูรณ์ เหมาะสมในการรองรับการใส่เลนส์เทียม
  • ใช้ตัดเลนส์เป็นชิ้นเล็ก (รูปที่ 3 และ 4) ก่อนที่จะดูดเลนส์ออกด้วยเครื่องสลายต้อกระจก
corneal incision by femtosecond laser

รูปที่ 1 เลเซอร์เปิดแผลที่ขอบตาดำแทนการใช้ใบมีด
(ภาพจาก https://professional.myalcon.com)

capsulorhexis by femtosecond laser

รูปที่ 2 เลเซอร์เปิดถุงหุ้มเลนส์ได้ขนาดเหมาะสม
อยู่ตรงกลาง และมีความกลมมาก
(ภาพจาก https://professional.myalcon.com)

nucleus diviion by femtosecond laser

รูปที่ 3 ภาพแสดงการใช้เลเซอร์ตัดถุงหุ้มเลนส์ส่วนหน้า
และเลเซอร์กำลังตัดเลนส์เป็นชิ้นเล็กๆ
(ภาพจาก https://professional.myalcon.com)

nucleus diviion by femtosecond laser

รูปที่ 4 ภาพหลังการใช้เลเซอร์ สังเกตว่า
เลนส์ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กๆเรียบร้อยแล้ว
(ภาพจาก https://professional.myalcon.com)

ขั้นตอนใช้เครื่องสลายต้อกระจก
  • เป็นการใช้เครื่องสลายต้อกระจกสอดผ่านแผลที่ขอบตาดำเข้าไปในตา เพื่อดูดต้อกระจกออกมา (รูปที่ 5) เนื่องจากต้อกระจกถูกเลเซอร์ตัดเป็นชิ้นๆ ไว้แล้วจึงทำให้ใช้พลังงานของเครื่องสลายต้อกระจกน้อยลง และใช้เวลาในั้นตอนนี้น้อยลง
  • หลังจากดูดต้อกระจกออกจนหมด ก็จะใส่เลนส์เทียมชนิดพับได้เข้าไปในถุงเลนส์ (รูปที่ 6)
nucleus phacoemulsification

รูปที่ 5 แสดงการใช้เครื่องสลายต้อกระจกดูดเลนส์
ที่ถูกตัดด้วยเลเซอร์ไว้แล้ว
(ภาพจาก https://professional.myalcon.com)

intraocular lens insertion

รูปที่ 6 ใส่เลนส์เทียมชนิดพับได้เข้าไปวางในถุงเลนส์
(ภาพจาก https://professional.myalcon.com)

ประโยชน์ของการใช้เลเซอร์ช่วยในการผ่าตัดต้อกระจก
  • การตัดเนื้อเยื่อด้วยเลเซอร์มีความแม่นยำสูงมาก เนื่องจากใช้เทคโนโลยีการสแกนภาพดวงตาแบบ 3 มิติ และควบคุมการใช้เลเซอร์ด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้ถุงเลนส์ที่ได้มีความสมบูรณ์
  • เนื่องจากเลนส์ถูกเลเซอร์ตัดไว้ก่อนแล้ว จึงช่วยลดการใช้พลังงานจากคลื่นเสียงความถี่สูงของเครื่องสล่ยต้อกระจก ทำให้ลดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง
  • ให้ผลการมองเห็นที่ดี เนื่องจากการวางเลนส์ได้ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยเฉพาะรายที่ต้องการใส่เลนส์เทียมชนิดพิเศษ อาทิ เลนส์แก้ไขสายตาเอียง เลนส์ชนิดมัลติโฟคอลที่ดูได้ทั้งไกลและใกล้
  • ลดโอกาสเกิดสายตาเอียงที่เกิดจากแผลผ่าตัด
การผ่าตัดต้อกระจกด้วยเลเซอร์ สามารถใช้กับใครได้บ้าง?

การผ่าตัดต้อกระจกด้วยเลเซอร์ สามารถทำได้ในผู้ป่วยต้อกระจกเกือบทุกราย แต่เนื่องจากเลเซอร์มีค่าใช้จ่ายสูงจึงไม่เหมาะที่ใช้ในการผ่าตัดทุกราย

อีกทั้ง การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ยังไม่เหมาะสมในรายที่รูม่านตาไม่ขยาย และผู้ที่ช่องเปิดระหว่างเปลือกตาบนและเปลือกตาล่างแคบมาก

เลเซอร์มีประโยชน์ ในรายที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
  • ผู้ป่วยมีเซลล์ชั้นผิวหลังของกระจกตาไม่แข็งแรง เนื่องจากการผ่าตัดด้วยเลเซอร์จะช่วยลดพลังงานจากการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง จึงสามารถลดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อผิวหลังของกระจกตาที่บอบบาง
  • ต้อกระจกที่มีเนื้อเลนส์นิ่มมากๆ
  • ต้อกระจกที่มีเนื้อเลนส์แข็งมากๆ
  • ต้อกระจกที่มีเส้นใยยึดเลนส์ไม่แข็งแรง
  • ต้อกระจกที่มีถุงหุ้มเลนส์ส่วนหน้ามีพังผืดแข็งๆเกาะ
  • คนที่ต้องการใส่เลนส์เทียมพิเศษชนิดต่างๆ และต้องการความแม่นยำในการวางตำแหน่งเลนส์เทียมให้เหมาะสม เพื่อให้เลนส์เทียมทำหน้าที่ได้เต็มที่
การผ่าตัดต้อกระจก จำเป็นต้องใช้วิธีเลเซอร์หรือไม่?
  • จริงๆแล้ว การผ่าตัดโดยไม่ใช้เลเซอร์ แพทย์ก็สามารถทำได้ดีอยู่แล้ว และค่าใช้จ่ายในการใช้เลเซอร์ร่วมด้วยค่อนข้างสูง จึงอาจเลือกใช้ในบางราย
  • การผ่าตัดวิธีเลเซอร์นี้ใช้ได้ดีกับเลนส์พิเศษชนิดต่างๆ เช่น เลนส์แก้ไขสายตาเอียง(Toric intraocular lens) และเลนส์ดูไกลและใกล้ (Multifocal intraocular lens) แต่ไม่ได้เป็นข้อบังคับหรือจำเป็นว่าคนที่จะใส่เลนส์พิเศษเหล่านี้จะต้องใช้เลเซอร์
  • เครื่องเลเซอร์ (Femtosecond laser) มีอยู่เพียงไม่ถึง 10 เครื่องในประเทศไทย ซึ่งที่ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีใช้บริการสำหรับผู้ที่สนใจ และไม่ติดขัดกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกราว 30000 บาท
  • โดยสรุปแล้ว การผ่าตัดโดยการใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัดต้อกระจก เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น แต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง จึงต้องพิจารณาในแง่ของความคุ้มค่าด้วย แต่ถ้าไม่มีปัญหาค่าใช้จ่ายแล้วการผ่าตัดโดยการใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัดต้อกระจกนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

    ด้วยความปรารถนาดีจาก ดิเรก-ประภัสสร จักษุคลินิก
    www.direkclinic.com