การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
(Phacoemulsification)

เขียนโดย รศ.นพ.ดิเรก ผาติกุลศิลา


วิธีการผ่าตัดต้อกระจก

ปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกด้วยนิยมทำ 2 วิธี คือ

  1. การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลใหญ่ (Extracapsular cataract extraction)
  2. การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification หรือ phaco) ปัจจุบันวิธีนี้เป็นที่นิยมและเป็นมาตรฐาน 
การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง คืออะไร?

ก่อนจะมีเครื่องสลายต้อกระจกใช้ การผ่าตัดต้อกระจกต้องเปิดแผลใหญ่เพื่อเอาเลนส์ที่ขุ่น(ต้อกระจก)ออกมา การคิดค้นเครื่องสลายต้อกระจกขึ้นมา ช่วยให้ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ เป็นการใช้เข็มเล็กๆที่ขับเคลื่อนให้เข็มมีการขยับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทำให้เกิดแรงกระแทกที่กระทำต่อต้อกระจก ทำให้ต้อกระจกแตกออกเป็นผงเล็กๆ และสามารถดูดผ่านแผลเล็กๆ ขนาด 2.0-3.0 มิลลิเมตรออกมาได้ ทำให้มีการอักเสบน้อย แผลหายเร็ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้เร็ว

ปัจจุบันถือได้ว่า การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาต้อกระจกที่ใช้กันมานานมากกว่า 25-30 ปี โดยที่เครื่องมือมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ

ขั้นตอนการผ่าตัด
  • หยอดยาชาหรือฉีดยาชา
  • ใช้ใบมีดเปิดแผลที่ขอบตาดำ (รูปที่ 1)
  • ใช้คีมคีบขนาดเล็กเปิดถุงหุ้มเลนส์ส่วนหน้าเป็นวงกลม (รูปที่ 2)
  • ใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเหมือนเข็มที่ขับเคลื่อนด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงให้เกิดเป็นแรงกระแทกเพื่อใช้สลายเอาเลนส์ที่ขุ่นและแข็ง (lens nucleus) ออกมาจากตาจนหมด (รูปที่ 3) ในขั้นตอนนี้แพทย์จะใช้เครื่องมือ 2 อันสอดเข้าไปในตาเพื่อแบ่งเลนส์ออกเป็นชิ้นๆ คล้ายการตัดขนมเค้ก แล้วค่อยๆดูดออกทีละชิ้น
  • ดูดล้างเศษเลนส์ที่มีลักษณะเป็นฝอยๆ (lens cortex)ออกจนสะอาด
  • ใส่เลนส์เทียมชนิดพับได้เข้าไปอยู่ในถุงหุ้มเลนส์ (รูปที่ 4)
  • ปิดแผล โดยไม่ต้องเย็บแผล เนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก
corneal incision

รูปที่ 1 เปิดแผลที่ขอบตาดำโดยใช้ใบมีด
(ภาพจาก https://professional.myalcon.com)

รูปที่ 2 เปิดถุงหุ้มเลนส์โดยใช้คีมคีบขนาดเล็ก
(ภาพจาก https://professional.myalcon.com)


รูปที่ 3 ใช้เครื่องสลายต้อกระจกดูดเลนส์ออก
(ภาพจาก https://professional.myalcon.com)

intraocular lens insertion

รูปที่ 4 ใส่เลนส์เทียมชนิดพับได้
(ภาพจาก https://professional.myalcon.com)

เลนส์เทียม

แผลผ่าตัดโดยวิธีสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นแผลที่มีขนาดเล็กเพียง 2.5-3.0 มิลลิเมตร จึงต้องใช้เลนส์เทียมชนิดนิ่ม เรียกว่าเลนส์เทียมชนิดพับได้ โดยการใช้อุปกรณ์ช่วยใส่เลนส์เทียมที่ม้วนพับเหมือนโรตีฉีดเลนส์ผ่านแผลขนาดเล็กเข้าไปในตา (รูปที่ 4)

ปัจจุบันมีเลนส์เทียมให้เลือกหลายชนิด อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

การผ่าตัดต้อกระจกถือเป็นการผ่าตัดที่มีอัตราของการประสบผลสำเร็จที่สูงมากๆ โอกาสเกิดผลอันไม่พึงประสงค์พบได้น้อยมาก ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ ความดันลูกตาสูง การมีเลือดออกภายในลูกตา การติดเชื้อ การอักเสบมาก เศษเลนส์ตกค้าง ถุงเลนส์ฉีกขาด ทำให้ใส่เลนส์ไม่ได้ หรือใส่เลนส์ไปแล้วแต่เลนส์ตาอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ค่าสายตาคลาดเคลื่อนไปจากที่แพทย์ตั้งใจ ทำให้เหลือสายตาที่ต้องแก้ไขด้วยแว่นหรือบางรายอาจต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อเปลี่ยนเลนส์ใหม่ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงทางร่างกายอื่นๆ ได้แก่ การมีโรคหัวใจกำเริบ ความดันโลหิตสูงจากความวิตกกังวล การแพ้ยา เป็นต้น

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

แผลผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันมีขนาดเล็กและมีรูปร่างแผลที่มีความแข็งแรงสูงกว่าในอดีต ทำให้การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดง่ายขึ้น แผลติดและหายเร็ว ทำให้ระยะพักฟื้นหลังการผ่าตัดสั้น ผู้ป่วยสามารถกลับไปมีกิจวัตรประจำวันได้อย่างรวดเร็ว คำแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดอาจมีความแตกต่างกันไปบ้างแล้วแต่แพทย์ผู้ผ่าตัดและผู้ป่วยแต่ละราย แต่สำหรับผู้เขียนเองมักจะแนะนำไว้ดังนี้

  • ในวันแรกหลังการผ่าตัด ปิดตาและนอนพักให้มาก สามารถนอนหงายและนอนตะแคงไปข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดได้
  • แพทย์นัดเปิดตาและตรวจหลังผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น เวลาไปพบแพทย์ควรเตรียมยาและแว่นกันแดดไปด้วย สอบถามแพทย์เกี่ยวกับยาหยอดให้ละเอียด เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
  • ห้ามให้น้ำเข้าตาอย่างน้อย 7 วัน
  • สวมใส่แว่นตาใสหรือกันแดดในช่วงเวลากลางวัน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรือการขยี้ตา ถ้าออกกลางแจ้งที่มีแสงแดดควรสวมเป็นแว่นตากันแดดเพื่อลดอาการแพ้แสง
  • ใส่ฝาครอบตาที่เป็นรูๆ (ได้จากโรงพยาบาล) ในช่วงเวลากลางคืน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการขยี้ตาหรือนอนทับตาในขณะนอนหลับ
  • ห้ามยกของหนักอย่างน้อย 7-14 วัน
  • หยอดตาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ถ้ามีอาการตามัวลง ปวดตา หรือมีขี้ตามากผิดปกติ ควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันที โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด

โดยสรุปแล้ว การผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบัน มักใช้วิธีการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ถือเป็นการผ่าตัดที่มีความสำเร็จสูง ผลข้างเคียงน้อย มีเลนส์ให้เลือกใช้หลายหลายชนิด จักษุแพทย์เกือบทุกท่านสามารถผ่าตัดต้อกระจกได้ สามารถติดต่อรับบริการได้ที่สถานบริการหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน