โครงสร้างการทำงานของดวงตา
ก่อนที่จะเข้าเรื่องเกี่ยวกับจอประสาทตาขอทบทวนเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของส่วนต่างๆของดวงตาสักเล็กน้อย ดวงตาหรือลูกตาประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ดังรูป (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 น้ำวุ้นตาปกติมีลักษณะใส ข้น ไม่มีตะกอน
ถ้าเปรียบเทียบดวงตากับกล้องถ่ายรูปที่ใส่ฟิล์มสมัยก่อน
- ส่วนของกระจกตาและเลนส์ตาก็เสมือนเลนส์ของกล้องถ่ายรูป (กระจกตาก็คือเลนส์ชิ้นหนึ่ง เลนส์ตาก็เป็นเลนส์ชิ้นที่ 2 ของดวงตา)
- ส่วนของจอประสาทตา ก็เสมือนกับเป็นฟิล์มของกล้องถ่ายรูป
จอประสาทตาลอกคืออะไร?
จอประสาทตาลอก คือ ภาวะที่จอประสาทตาลอกออกจากผนังลูกตา ถ้าเทียบกับกล้องถ่ายรูปก็คล้ายฟิล์มหลุดนั่นเอง ทำให้การมองเห็นในบริเวณที่จอประสาทตาลอกเสียไป
จอประสาทตาลอกมี 3 ชนิด ได้แก่
- จอประสาทตาลอกชนิดที่มีรูฉีกขาดของจอประสาทตา พบได้บ่อยที่สุด และบทความนี้จะอธิบายเฉพาะภาวะจอประสาทตาลอกชนิดนี้ เนื่องจากพบได้บ่อย และเป็นภาวะที่ต้องการรักษาอย่างเร่งด่วน
- จอประสาทตาลอกชนิดที่เกิดจากพังผืดดึงรั้ง มักเกิดจากเบาหวานขึ้นตา
- จอประสาทตาลอกชนิดที่เกิดจากน้ำเหลืองรั่ว มักเกิดจากการอักเสบ หรือมีเนื้องอกในตา
ปกติแล้วจอประสาทตาทางด้านบนจะรับภาพมาจากด้านล่าง ดังนั้นถ้าจอประสาทตาลอกด้านบนการมองเห็นก็จะเสียทางด้านล่าง
จอประสาทตาลอกชนิดที่มีรูฉีกขาดของจอประสาทตา
ส่วนมากเกิดจากการที่วุ้นตาดึงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาฉีกขาด น้ำจึงสามารถเซาะผ่านเข้าไปสะสมอยู่ใต้จอประสาทตาได้ ทำให้จอประสาทตาหลุดลอกออกมา สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรควุ้นตาเสื่อม ที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะจอประสาทตาลอกชนิดนี้ได้ ที่นี่
อาการ
มักเริ่มจากการที่หยากใย่ลอยไปมามากขึ้น เนื่องจากมีการหลุดลอกของวุ้นตาออกจากจอประสาทตา มักเห็นแสงฟ้าแลบร่วมด้วย(แต่ไม่เสมอไป) จากนั้นจึงตามมาด้วยอาการเห็นเงาคล้ายม่านมาบังด้านใดด้านหนึ่งของตา (รูปที่ 2) ทำให้มุมมองแคบลง (เช่นบังบริเวณหัวตา) จากนั้นจะค่อยๆบังมากขึ้นเรื่อยๆ จนบังไปหมด ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน แต่บางรายอาจใช้เวลาเป็นเดือน

รูปที่ 2 รูปแสดงการมองเห็นที่มีเงาคล้ายม่านบังที่เกิดจากจอประสาทตาลอก
สิ่งตรวจพบ
- ถ้าจอประสาทตาลอกยังไม่ถึงจุดรับภาพตรงกลาง การมองเห็นจะยังดี แต่มีเงาบังด้านข้างๆ เวลาอ่านชาร์ทตัวเลขจะยังอ่านได้ค่อนข้างดี
- ถ้าจอประสาทตาลอกมาถึงจุดรับภาพตรงกลาง การมองเห็นจะลดลงอย่างมาก เวลาอ่านชาร์ทตัวเลขจะยังอ่านไม่ได้ ถ้าเป็นมาอาจเห็นเพียงนับนิ้วได้ใกล้ๆเท่านั้น
- การขยายม่านตาเพื่อตรวจจอประสาทตา จะพบว่าจอประสาทตามีรอยฉีกขาดและมีจอประสาทตาลอก ดังรูป (รูปที่ 3-4)
- ถ้าจอประสาทตาลอกเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ขึ้นไปมักจะเกิดพังผืดเกาะบนหรือใต้จอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาตึงและย่นมาก ทำให้การผ่าตัดทำได้ยากขึ้น ผลการรักษาจะไม่ดี

รูปที่ 3 รูปแสดงจอประสาทตาฉีกขาด

รูปที่ 4 รูปแสดงจอประสาทตาหลุดลอก
การรักษา
มีหลายวิธีขึ้นกับลักษณะและความรุนแรงของจอประสาทตาลอก ได้แก่
- การยิงเลเซอร์เพียงอย่างเดียว อาจใช้ได้ในรายที่มีจอประสาทลอกขนาดเล็กบริเวณด้านข้างๆ เท่านั้น ถ้าจอประสาทตาลอกเป็นบริเวณกว้างจะไม่สามารถทำเลเซอร์เพียงอย่างเดียวได้
- การฉ๊ดแก๊สเข้าไปในตา ร่วมกับการยิงเลเซอร์หรือจี้ด้วยความเย็น (pneumatic retinopexy) วิธีนี้สามารถใช้ได้กับบางรายเท่านั้น
- การผ่าตัด มี 2 วิธี
- ผ่าตัดหนุนลูกตาด้วยยางหรือฟองน้ำซิลิโคน เป็นวิธีการผ่าตัดที่เรียกว่า "scleral buckle" หรือ
- ผ่าตัดเจาะเข้าไปในตา เป็นวิธีการผ่าตัดที่เรียกว่า "pars plana vitrectomy" หรือเรียกสั้นๆว่า "PPV" เพื่อตัดน้ำวุ้นตา ลอกพังผืด(ถ้ามี) แปะจอประสาทตาให้ติดกลับคืน ยิงเลเซอร์หรือจี้ความเย็น แล้วตอนจบจะใส่แก๊สหรือน้ำมันซิลิโคนทิ้งไว้ในตา แล้วให้นอนคว่ำหน้าหลังผ่าตัด วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน
การพยากรณ์โรค
จอประสาทตาลอกถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ควรได้รับการรักษาโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้การมองเห็นกลับคืนมาได้ใกล้เคียงปกติ แต้ถ้ามาพบแพทย์ช้า จอประสาทตาจะเสื่อมและมักเกิดพังผืด ทำให้ผลการผ่าตัดไม่ค่อยดี การมองเห็นจะไม่ค่อยดี อาจต้องผ่าตัดซ้ำหลายครั้ง และบางรายจอประสาทตาอาจจะไม่ยอมติดกลับคืน
ตาอีกข้างก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดจอประสาทตาฉีกขาดหรือจอประสาทตาลอกประมาณร้อยละ 10 หรือพูดอีกอย่างคือ 1 ใน 10 คนเป็นตาที่ 2 ตามมา ดังนั้นจึงควรตรวจตาอีกข้างด้วยเช่นกัน
โดยสรุปแล้ว - ถ้ามีอาการมองเห็นหยากใย่ลอยไปมา โดยเฉพาะถ้าเห็นมีแสงฟ้าแลบร่วมด้วย ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดจอประสาทตาลอก ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์โดยละเอียด
- ถ้าพบมีจอประสาทตาฉีกขาด ก็สามารถให้การรักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์ได้ เพื่อป้องกันการเกิดจอประสาทตาลอก
- ถ้ามาพบแพทย์หลังจากเกิดจอประสาทตาลอกแล้ว การรักษาจะยากขึ้น
- ภาวะจอประสาทตาลอกถือเป็นภาวะที่ควรได้รับการรักษาโดยเร็ว ส่วนมากมักต้องรักษาโดยการผ่าตัด
ด้วยความปรารถนาดีจาก ดิเรก-ประภัสสร จักษุคลินิก
www.direkclinic.com